คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3688/2546

เจ้าของเดิมอุทิศที่ดินให้แก่วัดโจทก์ตกเป็นที่ธรณีสงฆ์ การโอนกรรมสิทธิ์จะต้องกระทำตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. 2505 มาตรา 34 คือ โอนกรรมสิทธิ์โดยพระราชบัญญัติหรือพระราชกฤษฎีกา แม้ที่ดินดังกล่าวจะได้มีการทำนิติกรรมและจดทะเบียนโอนต่อกันมาหลายทอดจนถึงจำเลย เมื่อมิได้กระทำตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. 2505 มาตรา 34 จึงเป็นการโอนที่ต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย ย่อมเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 150 โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยออกจากที่ดินซึ่งจำเลยครอบครองอยู่ได้ โดยหาจำต้องฟ้องเจ้าของเดิมและผู้รับโอนคนก่อนจำเลยไม่ กรณีไม่ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 145

 

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทวัดในพระพุทธศาสนาเดิมที่ดินโฉนดเลขที่ 977 ตำบลบ้านสวน อำเภอเมืองชลบุรี (เมือง) จังหวัดชลบุรี เนื้อที่ประมาณ 19 ไร่1 งาน 8 ตารางวา มีนายบุญชู ไชยวงศ์ และนางวาดหรือหวาด วรรัตน์ เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ ปี 2497 มีพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินบริเวณที่จะเวนคืนในท้องที่ตำบลนาป่า ตำบลบ้านสวน ตำบลบางทราย และตำบลหนองไม้แดง อำเภอเมืองชลบุรีจังหวัดชลบุรี เพื่อใช้ในราชการกองทัพบก ขณะที่ทางราชการกำลังดำเนินการเวนคืนอยู่นั้น เมื่อปี 2499 นายบุญชูและนางวาดอุทิศที่ดินแปลงดังกล่าวให้แก่โจทก์ ที่ดินจึงตกเป็นที่ธรณีสงฆ์ของวัดโจทก์ จะโอนต่อไปได้ก็แต่โดยพระราชบัญญัติและห้ามมิให้บุคคลใดยกอายุความขึ้นต่อสู้โจทก์ ที่ดินแปลงดังกล่าวถูกโอนต่อกันมาอีกหลายทอดจนถึงจำเลยทั้งสอง โดยผู้รับโอนทุกทอดทราบดีว่าได้มีการอุทิศที่ดินให้แก่โจทก์แล้วปี 2510 จำเลยทั้งสองแบ่งแยกที่ดินโฉนดดังกล่าวเป็นแปลงย่อยอีก 108 แปลงคงเหลือเนื้อที่ ประมาณ 1 ไร่ 1 งาน 35 ตารางวา การโอนที่ดินดังกล่าวไม่ชอบเพราะมิได้โอนโดยพระราชบัญญัติที่ดินโฉนดเลขที่ 977 เนื้อที่ประมาณ 19 ไร่ 1 งาน 8 ตารางวา จึงยังเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ การที่จำเลยทั้งสองมีชื่อถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินโฉนดเลขที่ 977 ซึ่งเหลือเนื้อที่ประมาณ 1 ไร่ 1 งาน 35 ตารางวา และครอบครองอยู่จึงเป็นการอันมิชอบด้วยกฎหมาย ขอให้เพิกถอนชื่อจำเลยทั้งสองออกจากโฉนดเลขที่ 977ตำบลบ้านสวน อำเภอเมืองชลบุรี (เมือง) จังหวัดชลบุรี ให้จำเลยทั้งสองส่งมอบโฉนดที่ดินและการครอบครองที่ดินแปลงดังกล่าวแก่โจทก์ กับให้ขนย้ายทรัพย์สินพร้อมบริวารออกไปจากที่ดินของโจทก์และห้ามเกี่ยวข้องกับที่ดินอีกต่อไป

จำเลยทั้งสองให้การว่า จำเลยทั้งสองเป็นผู้มีชื่อถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินโฉนดพิพาทเนื้อที่ 1 ไร่ 1 งาน 35 ตารางวา และครอบครองอยู่จริง เดิมที่ดินโฉนดพิพาทมีเนื้อที่ 15ไร่ 2 งาน 26 ตารางวา เป็นของนายบุญคง ไชยวงศ์ และนางวาด วรรัตน์ บุคคลทั้งสองไม่เคยตกลงยกหรืออุทิศที่ดินดังกล่าวแก่โจทก์ และไม่เคยส่งมอบการครอบครองแก่โจทก์โจทก์ไม่มีสิทธิฟ้องจำเลยทั้งสองซึ่งเป็นผู้รับโอนที่ดินพิพาทมาโดยสุจริตและเสียค่าตอบแทน โดยจำเลยที่ 1 รับซื้อฝากจากนางสำเภา จิตรจรูญ แล้วนำมาขายต่อให้แก่จำเลยที่ 2 ครึ่งหนึ่ง จำเลยทั้งสองจึงมีชื่อถือกรรมสิทธิ์ร่วมกัน ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาข้อแรกของโจทก์ว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสองโดยไม่ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 145 หรือไม่ พิเคราะห์แล้ว โจทก์ฟ้องอ้างว่าเดิมที่ดินโฉนดพิพาทเลขที่ 977ตำบลบ้านสวน อำเภอเมืองชลบุรี (เมือง) จังหวัดชลบุรี เนื้อที่ประมาณ 19 ไร่ 1 งาน8 ตารางวา เป็นของนายบุญชู ไชยวงศ์ และนางวาดหรือหวาด วรรัตน์ เมื่อปี 2499นายบุญชูและนางวาดอุทิศที่ดินตามโฉนดดังกล่าวให้แก่โจทก์ซึ่งเป็นนิติบุคคลประเภทวัดในพระพุทธศาสนา มีผลทำให้ที่ดินดังกล่าวตกเป็นที่ธรณีสงฆ์ ต่อมาผู้มีชื่อเป็นเจ้าของในโฉนดได้โอนต่อกันอีกหลายทอดจนถึงจำเลยทั้งสองโดยผู้รับโอนทุกทอดทราบดีว่าได้มีการอุทิศที่ดินให้แก่โจทก์แล้ว ปี 2510 จำเลยทั้งสองแบ่งแยกที่ดินเป็นแปลงย่อยอีก108 แปลง คงเหลือเนื้อที่ดินในโฉนดพิพาทประมาณ 1 ไร่ 1 งาน 35 ตารางวา การโอนที่ดินดังกล่าวไม่ชอบเพราะมิได้โอนโดยพระราชบัญญัติที่ดินโฉนดพิพาทเนื้อที่ประมาณ19 ไร่ 1 งาน 8 ตารางวา จึงยังคงเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ การที่จำเลยทั้งสองมีชื่อถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินโฉนดพิพาทซึ่งเหลือเนื้อที่ประมาณ 1 ไร่ 1 งาน 35 ตารางวา และครอบครองอยู่จึงเป็นการอันมิชอบด้วยกฎหมาย ขอให้เพิกถอนชื่อจำเลยทั้งสองออกจากโฉนดพิพาทและขับไล่ออกจากที่ดินพิพาท เห็นว่า หากเจ้าของเดิมในที่ดินตามโฉนดพิพาทอุทิศที่ดินตามโฉนดดังกล่าวให้แก่โจทก์และที่ดินตกเป็นที่ธรณีสงฆ์ตามที่โจทก์กล่าวอ้าง การโอนกรรมสิทธิ์ที่ธรณีสงฆ์จะต้องกระทำตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์พ.ศ. 2505 มาตรา 34 คือ โอนกรรมสิทธิ์โดยพระราชบัญญัติหรือพระราชกฤษฎีกาแม้ที่ดินดังกล่าวจะได้มีการทำนิติกรรมและจดทะเบียนโอนต่อกันมาหลายทอดจนถึงจำเลยทั้งสอง เมื่อจำเลยทั้งสองจดทะเบียนรับโอนมาแล้วจำเลยทั้งสองได้แบ่งแยกที่ดินเป็นแปลงย่อยอีก 108 แปลง คงเหลือที่ดินตามโฉนดพิพาทประมาณ 1 ไร่ 1 งาน35 ตารางวา ซึ่งจำเลยทั้งสองมีชื่อเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในโฉนดพิพาทและยังคงครอบครองที่ดินพิพาทเนื้อที่ประมาณ 1 ไร่ 1 งาน 35 ตารางวา เมื่อการโอนดังกล่าวมิได้กระทำตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. 2505 มาตรา 34 จึงเป็นการโอนที่ต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย ย่อมเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 150โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสองซึ่งมีชื่อเป็นเจ้าของโฉนดพิพาทและขับไล่จำเลยทั้งสองออกจากที่ดินพิพาทซึ่งจำเลยทั้งสองครอบครองอยู่ได้ โดยหาจำต้องฟ้องเจ้าของเดิมและผู้รับโอนคนก่อนจำเลยทั้งสองไม่ กรณีไม่ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 145 ดังที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 วินิจฉัย ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังขึ้น เนื่องจากประเด็นข้อนี้คู่ความมิได้อุทธรณ์ แต่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 ยกขึ้นวินิจฉัยเอง และพิพากษายกฟ้องโจทก์โดยมิได้วินิจฉัยประเด็นที่โจทก์อุทธรณ์ จึงเห็นสมควรส่งสำนวนคืนไปยังศาลอุทธรณ์ภาค 2 เพื่อให้พิพากษาใหม่ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 243(1) ประกอบมาตรา 247"

พิพากษายกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 ให้ศาลอุทธรณ์ภาค 2 วินิจฉัยตามประเด็นที่โจทก์อุทธรณ์แล้วพิพากษาใหม่ ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้ศาลอุทธรณ์ภาค 2รวมสั่งเมื่อมีคำพิพากษาใหม่

 

 


 

 

 

 

 

 

 

 

 


 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 


 

 

บทความที่น่าสนใจ

-การด่าตำรวจจราจรว่ารับสินบนจะมีผิดความหรือไม่

-ด่ากันทางโทรศัพท์

-ส่งมอบโฉนดให้เจ้าหนี้ยึดถือไว้เป็นหลักประกันต่อมาไปแจ้งความว่าโฉนดหายมีความผิดต้องโทษจำคุก

-การปลอมเป็นเอกสารจำเป็นต้องมีเอกสารที่แท้จริงหรือไม

-การลงลายมือแทนกันเป็นความผิดฐานปลอมเอกสาร

-เมื่อครอบครองปรปักษ์ที่ดินแล้ว ต่อมาเกิดที่งอกใครเป็นเจ้าของที่งอกนั้น

-ซื้อที่ดินในหมู่บ้านจัดสรร แล้วไปซื้อที่ดินข้างนอกที่ติดกับหมู่บ้าน
เพื่อเชื่อมที่ดินดังกล่าวเข้ากับที่ดินในหมู่บ้าน

-ขายฝากที่ดินต่อมาผู้ขายได้ปลูกสร้างบ้านบนที่ดิน แต่ไม่ได้ไถ่ภายในกำหนดบ้านเป็นของใคร

-ไม่ได้เข้าร่วมในการแบ่งกรรมสิทธิ์รวม

-ปลูกต้นไม้ในทางสาธารณะสามารถฟ้องให้รื้อถอนออกไปได้

-การทำสัญญายอมในศาลโดยการครอบครองในป่าสงวน

-เจ้าของรวมนำโฉนดที่ดินไปประหนี้เงินกู้ผลเป็นอย่างไร

-การต่อเติมภายหลังปลูกสร้างโรงเรือนรุกล้ำ

-คนต่างด้าวก็สามารถครอบครองปรปักษ์ได้

-ผู้รับการให้ด่าว่าผู้ให้ ผู้ให้สามารถเพิกถอนการให้ได้

-ยกที่ดินให้แล้ว แต่มีสิทธิเก็บกินโดยไม่ได้จดทะเบียนผลเป็นอย่างไร

-ด่าว่า จัญไร ถอนการให้ได้

-ฟ้องเรียกค่าขาดกำไร เป็นค่าเสียหายพฤติการณ์พิเศษ

-หนังสือทวงถามส่งไปที่บ้านตามภูมิลำเนาอ้างว่าไม่ได้รับได้หรือไม่

-การยินยอมของเด็กที่ให้ล่วงละเมิดทางเพศ ยังคงเป็นความผิดฐานละเมิด

-ดูหมิ่นเรียกค่าเสียหายได้เท่าไหร่

-ตั้งใจไปกู้แต่เจ้าหนี้ให้ทำสัญญาขายฝากผลเป็นอย่างไร

-คำมั่นจะให้เช่าเป็นการแสดงเจตนาฝ่ายเดียว

-การโอนสิทธิการเช่าทำได้หรือไม่